กำไลข้อเท้า และเรื่องราวที่น่าสนใจและความเป็นมา
กำไลข้อเท้า อีกหนึ่งเครื่องประดับที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีความหมายที่หลากหลายทางสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าสำหรับใครหลายคน กำไลข้อเท้าน่าจะเป็นเครื่องประดับชิ้นแรกที่ได้รับเป็นของรับขวัญในชีวิตตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ว่าได้
ตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเกี่ยวกับ กำไลข้อเท้า สำหรับเด็กนั้น เชื่อกันว่า เสียงกระพรวนที่กำไลข้อเท้าทำให้เกิดความเป็นมงคลได้รับโชคลาภวาสนา นำพาสิ่งดีๆเข้ามาสู่ตัวเด็กน้อยและครอบครัวแต่ความจริงแล้วเหมือนเป็นกุศโลบายของคนโบราณในการเลี้ยงเด็กอย่างหนึ่ง นั่นคือเสียงกระพรวนจะเป็นเสียงที่ทำให้พ่อแม่รู้ว่าลูกกำลังหลับหรือตื่น รวมทั้งการบอกตำแหน่งของเด็กเมื่อเคลื่อนไหวเพื่อให้พ่อแม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน เรียกว่าเป็นกุศโลบายที่แยบยลและฉลาดหลักแหลมของคนโบราณอย่างแท้จริงเลยนะคะ แล้วทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้ผลด้วย
ไม่เพียงแต่เป็นกำไลข้อเท้าสำหรับเด็กแล้ว แต่ในสมัยโบราณ กำไลข้อเท้า ถือเป็นเครื่องประดับที่เรียกว่าคือสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงฐานะและสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ เช่น ถ้าเป็นเจ้านายในวังหรือชนชั้นสูง ก็จะนิยมสวมกำไลที่ทำจากทองคำหรือเงิน พร้อมการออกแบบลวดลายอย่างประณีตวิจิตรบรรจง มีการลงยาหรือตกแต่งด้วยอัญมณีและส่วนใหญ่มีมากกว่า 1 คู่ เพื่อสวมใส่ร่วมกับเครื่องแต่งกายในโอกาสที่แตกต่างกันไป
ในส่วนของชนชั้นสามัญทั่วไปรวมถึงเหล่าพ่อค้า เศรษฐี คหบดี กลุ่มนี้จะสวมกำไลที่ทำจากทองคำ, เงิน , ทองเหลือง, นาก แบบไม่มีลวดลาย หรือมีลวดลายเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะสวมกำไลที่ทำจากโลหะสำริดแบบไม่มีลวดลาย
มีธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยโบราณที่เกี่ยวกับกำไลข้อเท้าอีกอย่างหนึ่งค่ะ นั่นคือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้ทราบว่าลูกสาวบ้านไหนยังไม่มีคู่ครอง ถ้าผู้หญิงคนไหนสวมกำไลข้อเท้าครบทั้งสองข้าง จะเข้าใจกันชัดเจนว่ายังไม่ได้ออกเรือน การถอดกำไลข้อเท้าจะทำได้ก็ต่อเมื่อหญิงผู้นั้นได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้วเท่านั้น