เครื่องประดับไทย ในประวัติศาสตร์ไทย
เชื่อว่าทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เครื่องประดับไทย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยทวารวดีเลยทีเดียว และก็มีวัฒนาการที่น่าสนใจเรื่อยมา ในหัวข้อนี้เราจึงจะขอหยิบยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ บางช่วงเกี่ยวกับเครื่องประดับไทยที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ
ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของ เครื่องประดับไทย แบ่งออกได้ 3 สมัย คือ
-สมัยสุโขทัย
เครื่องประดับในยุคเริ่มแรกนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรละโว้และทวารวดีผสมผสานกับศิลปะของชนพื้นเมืองและการนับถือเทวรูป ทำให้รูปแบบของเครื่องประดับสมัยสุโขทัยมีลักษณะคล้ายเครื่องประดับของเทวรูปที่มีการประดับตกแต่งแบบเต็มที่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ากันเลย ในขณะที่เครื่องประดับของชนชั้นสูงก็มีเอกลักษณ์อยู่ที่งานช่างศิลป์ที่ออกแบบอย่างวิจิตรงดงาม และมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนชนชั้นสามัญในยุคนั้นมีน้อยมากที่สวมใส่เครื่องประดับ
-สมัยอยุธยา
เครื่องประดับในสมัยอยุธยา แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางในราชสำนัก และเครื่องประดับสำหรับสามัญชนทั่วไป
เครื่องประดับต่างๆ ของกษัตริย์และพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ที่สวมใส่เพื่อความสง่างาม รวมทั้งเพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะและชนชั้นที่มีหลายระดับ การสวมใส่เครื่องประดับก็ต้องคำนึงถึงกาลเทศะด้วย เช่น ถ้าเป็นงานพิธีสำคัญก็ต้องแต่งแบบเต็มยศที่สำคัญคือมีความแตกต่างจากเครื่องประดับชองสามัญชนอย่างชัดเจน เพราะมีกฏหมายโบราณกำหนดไว้ในยุคนั้น
ในส่วนของเครื่องประดับของสามัญชน ผู้ชายก็มักจะใส่แค่แหวน ส่วนผู้หญิงนิยมใส่ต่างหูทำจากทองคำ เงิน หรือเงินกะไหล่ทอง ถ้าค่อนข้างมีฐานะดีก็อาจจะใส่กำไลข้อมือกับข้อเท้าในวัยเด็กด้วย
-สมัยรัตนโกสินทร์
ช่วงรัชกาลที่ 1-3 ยังคงเป็นค่านิยมที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา แต่พอเริ่มเข้าสูรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง จากการติดต่อกับชาติตะวันตก เครื่องประดับสำหรับผู้หญิงทุกชนชั้นดูมีความหลากหลายและเป็นสากลจนเริ่มจะกลายเป็นแฟชั่นขึ้นมาก็ว่าได้ เช่น การคาดศีรษะด้วยผ้าหรือสร้อยไข่มุกในสมัยรัชกาลที่ 7 นอกจากนี้ วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่รับมาจากต่างชาติในยุคนี้ก็คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องประดับสำหรับปูนบำเหน็จความดีความชอบที่มีหลายกหลายรูปแบบ