ชุดไทยพระราชนิยม มีที่มาอย่างไรลองมาดูกัน
ความนิยมในการแต่งชุดไทยเริ่มกลับมามีกระแสอีกครั้งในยุคนี้และการแต่งชุดไทยไปเที่ยวงานหรือสถานที่ต่างๆก็ดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากขึ้น และในหัวข้อนี้เราก็จะมาแนะนำให้รู้จักกับ ชุดไทยพระราชนิยม กันค่ะ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินแต่ยังไม่รู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ถ้าอยากทราบแล้วก็ไปติดตามกันต่อเลย
ชุดไทยพระราชนิยม คือชุดไทยสำหรับผู้หญิงที่มีที่มาจากพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เป็นต้นแบบของชุดประจำชาติไทย โดยประยุกต์มาจากการแต่งกายของสตรีไทยสมัยโบราณ มีทั้งหมด 8 แบบ พร้อมชื่อเรียกดังนี้ค่ะ
1.ชุดไทยเรือนต้น เป็นชุดเสื้อแขนกระบอกคอกลมติดกระดุม สวมใส่กับผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เหมาะกับเป็นชุดลำลองทั่วไป
2.ชุดไทยจิตรลดา เป็นชุดที่มีความเป็นทางการมากกว่าชุดไทยเรือนต้นสามารถสวมใส่ได้หลายโอกาสตามความเหมาะสม
3.ชุดไทยอมรินทร์ ลักษณะรวมๆคล้ายกับชุดไทยจิตรลดาแต่เนื้อผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่า เหมาะกับงานเลี้ยงรับรองหรืองานพระราชพิธี เช่นงานสโมสรสันนิบาต
4.ชุดไทยบรมพิมานลักษณะเสื้อเป็นคอกลม แขนยาว ผ้าซิ่นมีจีบหน้าและชายพกใช้ผ้าไหมหรือยกทองมีเชิง นิยมใช้เป็นชุดเจ้าสาวในงานหมั้นและสวมใส่ในงานพระราชพิธีตอนค่ำ
5.ชุดไทยจักรี เป็นชุดไทยแบบห่มสไบ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ผ้าซิ่นตัดแบบหน้านาง มีจีบยกข้างหน้าและมีชายพก คาดเข็มขัดไทยพร้อมทั้งใส่เครื่องประดับตามสมควร
6.ชุดไทยจักรพรรดิ เป็นชุดไทยห่มสไบคล้ายชุดไทยจักรี ต่างกันตรงที่มีสไบจีบรองสไบทึบ ปักเต็มยศด้วยลูกปัดสีทองบนสไบชั้นนอก ถือเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีสูงศักดิ์สมัยโบราณและใช้ในงานพิธีสำคัญระดับชาติ
7.ชุดไทยดุสิต ตัวเสื้อเป็นแบบคมกลมคว้านกว้าง แขนกุด ตกแต่งลวดลายด้วยลูกปัด ไข่มุก หรือเลื่อม ผ้าซิ่นเป็นผ้าไหมยกดิ้นทองลายดอกพิกุล นิยมสวมใส่สำหรับงานตอนค่ำ เช่น งานราตรีสโมสร
8.ชุดไทยศิวาลัย เป็นเสื้อแขนยาว คอตั้งเล็กน้อยและห่มสไบปักลายไทยคล้ายชุดไทยจักรพรรดิ ผ้าซิ่นมีชายพก คาดเข็มขัด นิยมใช้ในงานพิธีเต็มยศ